แพร่, 31 สิงหาคม 3563 – วานนี้ (30 ส.ค.) เวลาประมาณ 11.00 น. คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนตำบลสะเอียบและชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้รวมตัวกันบริเวณศาลเจ้าพ่อหอแดง เพื่อร่วมกันเผาแผนยุทธศาสตร์ เจ้าพระยาเดลต้า 2040 พร้อมทั้งเผาภาพถ่ายสาบแช่ง ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และมีการแถลงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ และข้อเสนอทางออกแก้น้ำแล้งน้ำท่วมลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง โดยได้ระบุประเด็นเหตุผลสำหรับการคัดค้านโครงการฯ ว่า การสร้างเขื่อนไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ อีกทั้งยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งการศึกษาของ สกว. พบว่า การสร้างเขื่อนจะกระทบต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมอย่างมาก รวมถึงจะกระทบต่อป่าสักทองที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกผืนสุดท้าย ตลอดจนบริเวณที่จะสร้างเขื่อนยังพบรอยเลื่อนที่ยังเคลื่อนตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น เขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ในยุโรปและอเมริกาได้เลิกใช้แล้วและหันกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ เขื่อนจึงไม่ใช่สัญญาลักษณ์พัฒนาอีกต่อไป แต่เขื่อนคือ สัญลักษณ์ ของหายนะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน

สืบเนื่องมาจากกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 63 ว่า ตนได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน ปัญหาที่ผู้ว่าฯ และประชาชนต้องการคือประตูชะลอน้ำ ที่สำคัญคือไม่มีที่รองรับน้ำ ทำให้น้ำไหลลงแม่น้ำยมหมด ดังนั้นควรมีการศึกษาการสร้างแก่งเสือเต้นให้ดีว่ามีผลกระทบหรือไม่ อย่างไร เพราะสำคัญมาก ซึ่งตอนนี้โครงการสร้างเขื่อนน้ำปี้ จ.พะเยา กั้นต้นน้ำยมใกล้เสร็จสิ้นแล้ว หากเสร็จก็จะช่วยกักน้ำไว้ได้ส่วนหนึ่ง หากมีโครงการที่แพร่กักน้ำไว้อีกส่วนหนึ่ง และสุโขทัยอีกส่วนหนึ่ง ปัญหาจะไม่รุนแรงเท่านี้
นอกจากนั้น ร.อ.ธรรมนัส ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าในกับพี่น้องเอ็นจีโอ ทุกอย่างหากมีเหตุผลรองรับเชื่อว่าเอ็นจีโอก็รับฟัง แต่ที่ผ่านมาไม่มีการเอาจริงเอาจังหรือมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ตนได้หารือกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ดูแลพื้นที่สุโขทัย ว่าถ้าเราจับมือกันแล้วคุยกับประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องเอ็นจีโอว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าทำได้และต้องรีบทำ เพราะอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เชื่อว่าเอ็นจีโอยอมรับฟัง
ซึ่งทำให้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนตำบลสะเอียบและชาวบ้านออกมาแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว พร้อมแถลงการณ์ โดยระบุว่า จากการที่นายธรรมนัส พรหมเผ่า และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้เสนอให้มีการดำเนินโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้ง กรรมาธิการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และอนุกรรมาธิการฯ นำโดยนายวีระกร คำประกอบ สส.จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และนายพรมงคล ชิดชอบ ผู้แทนกรมชลประทาน ได้ผลักดันการสร้างเขื่อนในจังหวัดแพร่ในแม่น้ำยมทั้ง 8 เขื่อนนั้น
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอประณามนักการเมืองและข้าราชการผู้หิวโหยเหล่านี้ และขอประณามผู้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมทั้งขอให้ถอดถอนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ออกจากแผนเจ้าพระยาเดลต้า 2040
4 ขอเรียกร้อง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ
- ให้ตรวจสอบการทำงานของ นายธรรมนัส พรหมเผ่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายวีระกร คำประกอบ คณะกรรมาธิการน้ำเจ้าพระยาฯ อนุกรรมาธิการฯ และ นายพรมงคล ชิดชอบ กรมชลประทาน ที่ละเมิดข้อตกลง
- ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดย ครม. มีมติรับรอง
- ให้ถอดถอนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นออกจากแผนเจ้าพระยาเดลต้า 2040
- ให้รัฐบาลเร่งผลักดันและสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอ่างห้วยแม่สะกึ๋น 2 และอ่างห้วยเป้า ตามที่ได้ตกลงกันไว้
คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ ยืนยันว่าเรามีทางออกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมลุ่มน้ำยม ทั้ง 14 แนวทาง โดยเฉพาะ “สะเอียบโมเดล” ที่หน่วยงานราชการ และประชาชน ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงเมื่อ 12 มีนาคม 2561 ซึ่งมีทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ รองอธิบดีกรมชลฯ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ผู้พันจากกองทับภาคที่ 3 ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้แทนชาวบ้านชุมชนลุ่มน้ำยม ทั้ง 12 รายนาม
14 แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม
- ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย
- รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
- ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า
- ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ
- เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
- ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
- พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้
- สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
- พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน
- กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
- ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
- ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ และมีบทลงโทษในการพัฒนาที่ผิดพลาด ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งส่งเสริมมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผู้ใช้อำนาจการตัดสินใจ ผู้วางแผนงาน การบริหารประเทศ การพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ให้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจอีกเจ็ดชั่วโคตร
- ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูก รองรับสิทธิชุมชน ให้สิทธิชุมชนในการ ปกป้อง รักษา และใช้ประโยชน์ในทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ

จากจากนั้นยังได้ระบุเหตุผล 14 ประการที่ไม่สมควรสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนเตาปูน อ่างเก็บน้ำเตาปูน ประตูระบายน้ำเตาปูน (ปตร.) โครงสร้างเตาปูน ฯลฯ
- ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง จุน้ำได้เพียงครึ่งเดียว ยิ่งไม่มีทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เลย
- ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ส่วนเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างนั้น ยิ่งใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก จึงไม่มีทางที่จะคุ้มทุนได้
- ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็กระทบต่อพื้นที่เดียวกันนี้ เพราะเป็นการแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็นสองตอน สองเขื่อนนั่นเอง
- การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ อีกทั้งจังหวัดแพร่มีป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดในโลก จึงไม่ควรทำลาย หันมาพัฒนาอุทยานแม่ยม รักษาป่าสักทอง พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการทำลาย
- ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งไม่ต้องสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง
- ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้เช่นกัน
- ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่ เขื่อนยมบนเขื่อนยมล่างก็ตั้งอยู่บริเวณแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกเช่นกัน กระทบทั้งรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม
- ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง เป็นต้น
- ผลการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุโครงการเขื่อนเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิชุมชน อย่างร้ายแรง ซึ่งต้องยกเลิกโครงการโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังมีทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ อีกมากในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
- เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังนั้นข้อกล่าวอ้างที่ว่าหากไม่สร้างเขื่อนก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงเป็นความเท็จ เพราะเขื่อนไม่ได้ออกแบบเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด อีกทั้งเขื่อนทั้งหมดของประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากยกเลิกการผลิตไฟจากเขื่อนทั้งหมดก็ยังมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ
- เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่า 30,000-40,000 ไร่ ซึ่งมีพรรณไม้นานาชนิดหลายล้านต้น ซึ่งไม่มีทางที่จะปลูกป่าทดแทนได้ดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ที่ผ่านมามีเพียงการปลูกต้นไม้สร้างภาพแล้วปล่อยให้ตาย ไม่มีสภาพเป็นป่าดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
- เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่ามหาศาลอันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน เป็นการทำลายแหล่งผลิตออกซิเจน ซึ่งเป็นปัญหาของคนทั้งชาติและคนทั้งโลก
- เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายแก่งเสือเต้น ท่วมทั้งแก่ง ท่วมทั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ท่วมทั้งป่าสักทอง ทำให้หมดอัตลักษณ์ของความเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ทั้งแก่งเสือเต้นและป่าสักทอง จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำลายอุทยานแห่งชาติแม่ยมที่เป็นสมบัติของตนไทยทั้งชาติและคนทั่วโลก
- เขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ยุโรปและอเมริกาได้เลิกใช้แล้วและหันกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เขื่อนจึงไม่ใช่สัญญาลักษณ์พัฒนาอีกต่อไป แต่เขื่อนคือ สัญลักษณ์ ของหายนะและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 31 ปี ที่การต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น นับจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โอนงานให้กรมชลประทานดำเนินการต่อ วันที่ 13 พฤษภาคม 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมชลประทานศึกษาทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยกรมชลประทานได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนเมษายน 2534 และแผนแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 2537 จากนั้น วันที่ 22 เมษายน 2539 ได้มีการชุมนุมของชาวบ้านเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ชะลอโครงการไปก่อน
10 ปี ต่อมา ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ได้มีการผลักดันโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านที่ระบุว่าแก่งเสือเต้นเป็นพื้นที่ไม้สักทองผืนสุดท้ายของประเทศ แต่ทางพลตรีสนั่นว่า มีการตัดไม้สักทองไปหมดแล้ว และชี้แจงต่อไปว่า ข้อมูลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในบริเวณดังกล่าว มี 2 ทางเลือก คือ เขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่น้ำยม แต่เขื่อนแก่งเสือเต้นเหมาะสมกว่าในแง่วิศวกรรมและเศรษฐกิจ