วันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ใน 3 ตำบล ได้แก่ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม และต.นาทับ ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดตัว ‘ศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน’ หรือ ศอ.บจ. เพื่อเป็นเวทีคู่ขนาน (ศอ.บต.) ในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และเจตนารมณ์การมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ในการร่วมคิดร่วมสร้างสังคมให้น่าอยู่ ด้วยแนวคิดที่ว่า “การพัฒนาต้องมาพร้อมกับความสุขและยั่งยืน” บริเวณ เนินทราย 6,000 ปี หาดสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่ เวลา 14.00 น. และได้ประกาศ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอจะนะ ต้องมาพร้อมกับความสุข และยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นที่กลางของคนจะนะ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน 2. เพื่อขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์จะนะน่าอยู่” ให้บรรลุผลที่เป็นรูปธรรม 3. เพื่อสร้างการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้สังคมได้เข้าใจเจตนารมณ์ของ ศอ.บจ. 4. เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาที่ต้องมาพร้อมกับความสุขและยั่งยืน อันจะสร้างทางออกให้กับสังคม 5. เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการประสานความร่วมมือในการพัฒนาทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน และ 6. เพื่อสร้างจิตสำนึกในการดูแลปกป้องฐานทรัพยากรให้แก่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่

ด้านนายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวเปิดกิจกรรม โดยได้ตอบคำถามว่า “ทำไมถึงใช้คำว่า ศอ.บจ.” นายกิตติภพเผยว่า จากประสบการณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ซึ่งเริ่มมีนโยบายโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ Southern Seaboard มีโรงแยกก๊าซ มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือนิคมอุตสาหกรรม ที่จะมาสร้างที่อำเภอจะนะ ช่วงนั้นเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้มีการรวมตัวกัน ยื่นข้อเสนอและแสดงความกังวลติดต่อกันหลายปี ว่าโครงการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อ ดิน น้ำ อากาศ ทะเล และวิถีชีวิตของชาวอำเภอจะนะอย่างไร แต่สุดท้ายรัฐกลับใช้อำนาจสลายการชุมนุมของพวกเรา และดำเนินคดีกับชาวบ้าน หลังจากนั้นชาวจะนะก็ยังรวมตัวกันอยู่เป็นเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น แล้วเราก็เริ่มพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้ง 3 ตำบล ตลิ่งชัน สะกอม และนาทับ แล้วตั้งกลุ่มรักษ์ทะเลจะนะขึ้นมา และฟื้นฟูทะเลจากการที่เคยมีเรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำลายระบบนิเวศด้วยเครื่องมือทำลายล้าง และเราสามารถฟื้นฟูทะเลชายฝั่งของทั้งสามตำบลได้สำเร็จ และมีความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา สังคมดั้งเดิมกลับคืนมาและได้ทำมาหากินกันอย่างปกติสุขกันอีกครั้ง จนกลายเป็นแหล่งอาหารทะเลของจังหวัดสงขลา เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งประเทศ และสามารถเป็นสินค้าส่งออกไปยังนานาประเทศ จึงเกิดเป็นความภาคภูมิใจของชาวจะนะ จนกระทั่งมีนฌยบายใหม่เข้ามาอีก ก็คือ แลนด์บริดสงขลา-สตูล ทำท่าเรือน้ำลึกที่สวนกงเชื่อมด้วยรถไฟไปปากบาราที่สตูล และทำนิคมอุตสาหกรรม
“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า อยู่ ๆ ก็ประกาศว่า จะนะ ต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรม เริ่มต้น 16,000 กว่าไร่ โดยถูกกำหนดจากข้างบนโดยที่คนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม เพราะสิ่งที่ชุมชนคิดสิ่งที่ชุมชนทำถ้ามองกันจริง ๆ ก็เป็นนโยบายระดับโลกนะ เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปทำสัญญากับประชาคมโลกที่ปารีสว่าจะ ‘ร่วมพัฒนาที่ยังยืน’ แต่พอกลับมา มาทำถ่านหินบ้าง มาทำนิคมอุตสาหกรรมบ้าง ถ้าอย่างนั้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เองก็คงไม่เข้าใจ เพราะเราเห็นแล้วว่าถ้ามีทิศทางอย่างนั้นอีก อำเภอจะนะที่มีคนแสนกว่าคน มีภูเขาล้อมรอบ มีทะเลที่อุดมสมบูรณ์ อากาศ ดิน น้ำ และทะเล ก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนในที่สุดเราต้องทำอะไรสักอย่างให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ก็เลยคิดต่อยอดการรวมตัวกันที่เป็นเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น น่าจะถึงเวลาที่จะต้องทำให้เป็นกระบวนการที่ชัดเจนขึ้น เพื่อจะบอกภาครัฐว่าการพัฒนาของพวกเราที่พยายามทำกันมาเป็นสิบ ๆ ปี ที่คิดร่วมกันทั้งคนในชุมชน นักวิชาการ และข้าราชการในท้องถิ่น จึงตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อจะขับเคลื่อน ผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าว และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความสุขร่วมกัน เป็น ‘ศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน’ หรือ ศอ.บจ” นายกิตติภพกล่าว
ระหว่างกิจกรรมยังได้มีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ ‘การพัฒนาต้องมาพร้อมกับความสุขและยั่งยืน’ โดย ตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล และตัวแทนเยาวชนในพื้นที่ ร่วมแสดงทัศนะคติ และความคิดเห็นถึงการร่วมกันขับเคลื่อนตามวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะนำพาเมืองจะนะไปสู่เป้าหมายตามที่มุ่งหวังไว้ ตลอดจนการก่อตัวของศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน หรือ ศอ.บจ. ที่หวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะเชื่อมร้อยพี่น้องชาวจะนะทุกภาคส่วน และรวมถึงพี่น้องภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อย่างมีพลัง

นายไรหนับ เส็น ตัวแทนชาวบ้านหมู่ 3 บ้านป่างาม ตำบลตลิ่งชัน แสดงความเห็นต่การพัฒนาของภาครัฐ ได้สวนทางกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน ตัวอย่างเช่น เรื่อง ป่าในพื้นที่ปากบาง ที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาพัฒนาทำให้บางพื้นที่ได้รับผลกระทบให้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกทำลาย
“เรียกได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่เป็นประชาชนชั้นสองที่โดนกดทับจากภาครัฐที่บริหารงานจากส่วนกลางเข้ามาคว้าประโยชน์ในพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน การออกมาพูดในที่สาธารณะมีความตื่นเต้นทุกครั้ง เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงการแสดงออกว่าชาวบ้านในชุมชนแสดงจุดยืนว่าไม่อยากให้ภาครัฐเอาเปรียบประชาชนในพื้นที่”
ขณะที่นางรอเฝด หัดยุมสา ตัวแทนจากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านทะเลจะนะ พูดถึงการที่ชาวบ้านออกมาพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็มีเสียงสั่นเครือคละเคล้ากับหยาดน้ำตาเรียกร้องให้ทางภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรในพื้นที่ เพราะทะเลจะนะเป็นทุกอย่างในชีวิตของชาวบ้าน เป็นที่มาของอาชีพที่ทำให้ทุกคนล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแหล่งรายได้ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เอกลักษณ์ของการดำรงชีวิตในวิถีชาวเล เพราะด้วยความรักความผูกพันธ์ที่มีต่อทะเลจะนะ จึงทำให้ชาวบ้านเลือกที่จะแสดงถึงความไม่เป็นธรรมที่ภาครัฐมอบให้กับการพัฒนาในพื้นที่ เพียงเพราะเอื้อประโยชน์ให้นายทุน
“จึงอยากออกมาปกป้อง ให้ทะเลจะนะได้อยู่คู่กับลูกหลาน ไม่อยากให้ทะเลจะนะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเด็ดขาด เพราะทรัพยกรทางทะเลในพื้นที่นั้นมีคุณค่าทางจิตใจต่อชาวบ้านในชุมชนมากกว่าที่จะให้การพัฒนาของภาครัฐเข้ามาเอาเปรียบ ทว่าพื้นที่ทะเลตรงคือแหล่งอาหารที่สำคัญ อาหารทะเลสดๆ ที่เปรียบเสมือนวัตถุดิบสำคัญปลอดภัย เลยอยากจะขอความร่วมมือจากทุกคนให้เห็นใจและช่วยอนุรักษ์ทะเลส่วนนี้เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป”
ส่วนนางเธียรรัตน์ แก้วนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายปลาอินทรีย์ทะเลจะนะ หมู่ 1 ตำบลป่าชิง เสริมว่า “ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่พยายามออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านอยู่แล้ว เพื่อแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของพวกเราที่มีความหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่น และพยายามส่งเสียงว่าเราไม่ต้องการเมืองอุตหกรรมในพื้นที่ แต่ไม่น่าเชื่อว่าทางภาครัฐนิ่งเฉยกับการแสดงออกของชาวบ้าน และยืนยันการสร้างเมืองอุสาหกรรมในพื้นที่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่พยายามขอความเห็นใจจากภาครัฐที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่โดยไม่ต้องทำลายทรัพยากรในพื้นที่ เพราะการบริหารงานของภาครัฐคือการไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน และอยากจะฝากให้สื่อสาธารณะเป็นสื่อกลางที่จะสื่อสารไปยังภาครัฐได้ทบทวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทะเลจะนะให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงความยั่งยืน มั่นคง และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
ด้านนางไซหนับ ยะหมัดยะ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเล ชาวบ้านตำบลนาทับ กล่าวว่า “ชาวบ้านในพื้นที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่มานานหลายปี ด้วยความหวังที่ว่าจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน และพร้อมที่จะส่งต่อให้กับลูกหลานได้พัฒนาพื้นที่ประกอบอาชีพดั่งเดิมของบรรพบุรุษ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงความฝัน หากทางภาครัฐพยายามจะยัดเหยียดเมืองอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ และแน่นอนว่าอนาคตของลูกหลานที่จะสืบทอดอาชีพจะดูเป็นสิ่งมืดหม่น เพราะความหวังของการดำรงอยู่นั้นต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของอุตสาหกรรม บริษัทใหญ่เป็นคนจัดการในส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าต่อไปในอนาคตลูกหลานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จะนะจะไม่สามารถพึ่งพาทรัพยากรส่วนนี้ได้อีกต่อไป ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ทะเลจะนะก็เลือนหายไปเช่นกัน เป็นที่น่าเสียดายเพราะทะเลจะนะนั้นเปรียบเสมือนอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่เอื้อให้ลูกหลานได้มีลมหายใจ และขอเน้นย้ำถึงคำว่า การพัฒนานั้น ขอให้ภาครัฐได้ทำความเข้าใจร่วมกับชาวบ้านว่า คือ การเข้ามาเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่เป็นอยู่ให้กับชาวบ้านได้เกิดความยั่งยืนของอาชีพและความเป็นอยู่ ชาวบ้านสามารถพัฒนาให้ทะเลเป็นพื้นที่ท่องเที่ยง หรือการประกอบอาชีพ และแน่นอนว่าการพัฒนาที่ดี ควรจะเป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดการส่งเสริม ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะการพัฒนาคือการเกิดขึ้นด้วยความสุขที่ยั่งยืน”
ส่วน น้องย๊ะ ไครียะห์ ระหมันยะ [ลูกสาวแห่งทะเลจะนะผู้ที่เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี] ตัวแทนเยาวชนจากบ้านสวนกง ตำบลนาทับ บอกว่า “เห็นด้วยกับประโยคของตัวแทนวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเล ชาวบ้านตำบลนาทับ ที่ระบุว่า การพัฒนาที่ดี ควรจะเป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดการส่งเสริม ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เพราะการพัฒนาคือการเกิดขึ้นด้วยความสุขที่ยั่งยืน เพราะดูเหมือนว่าการพัฒนาของภาครัฐที่แสดงออกกับชาวบ้านมันทำให้เห็นถึงการฉวยโอกาส แอบทำ หรือให้ข้อมูลเท็จกับชาวบ้าน ไม่แสดงข้อมูลและข้อเท็จจริงให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นได้รับรู้ถึงโครงการที่เกิดจากการพัฒนา จึงอยากเสนอรายละเอียดต่อภาครัฐอีกว่า ถ้าหากอยากให้ท้องถิ่นพัฒนาจริง ก็น่าจะเอาเงินที่เป็นงบประมาณแผ่นดินจำนวน 18,000 ล้านบาท มาพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับโอกาส หรือสนับสนุนในสิ่งที่เขามี เช่น พัฒนาจากวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลปลาเส้น ให้มีศักยภาพและมีมาตรฐานที่สามารถทำให้ชาวบ้านเป็นลืมตาอ้างปากได้ มากกว่าที่จะนำเมืองอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งนั่นจะเป็นการทำร้ายทำลายชาวบ้าน และฝากไปถึงผู้ใหญ่ว่า ‘อย่าเปลี่ยนแหล่งผลิตอาหาร ให้เป็นฐานอุตสาหกรรม’ และในฐานะที่ตัวเองเป็นเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลจะนะก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า ‘ต่อไปนี้เราจะอยู่ในพื้นที่กันอย่างไร?’ “
ต่อจากนั้นได้มีการเสวนาทางวิชาการโดยมีตัวแทนนักวิชาการด้านสังคมและมนุษยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นอกจากนั้นมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และตัวแทนจากสมาคมรักษ์ทะเลไทยเข้าร่วม
โดย นพ.สุภัทร์ ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้กล่าวเปิดประเด็นถึงความฝันที่จะจัดการทะเลและชายหาดอย่างไร ฝันในมิติการศึกษาพื้นฐานอย่างไร ฝันในมิติเศรษฐกิจฐานรากอย่างไร ภายใต้งบประมาณ 18,000 ล้านบาทเท่ากัน
“ถึงแม้มันจะเป็นแค่ความฝัน แต่วันหนึ่งเมื่อมันถึงวันที่กระจายอำนาจจริง ศอ.บจ. ของเราอาจจะทำให้หลายอย่างเกิดขึ้นได้จริงก็ได้ หรือเราเอา ศอ.บจ. ของเราเป็นเครื่องมือต่อรองก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่เราโดนกล่าวหาเสมอ ๆ ก็คือ ‘คนพวกนี้ขัดขวางการพัฒนา’ แต่บอกว่าเราเสนอการพัฒนาทิศทางใหม่ การพัฒนาอีกแบบภายใต้ ศอ.บจ. และมันจะเกิดสิ่งที่ดีกว่า โดยการพัฒนาจะนะที่ยั่งยืน โดยมีทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม”

ด้าน ผศ.ดร.บัณฑิต ไกรวิจิตร แผนกวิชามานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเรื่องขึ้นมาว่า “แท้จริงทรัพยากรเป็นของใคร ป่าไม้เป็นของใคร ทะเลเป็นของใคร แร่เป็นของใคร ตามกฎหมายเขาไม่เห็นหัวประชาชนเลย ถึงแม้ว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ตาม ทรัพยากรทั้งหมดไม่ใช่ของเราตามกฎหมาย เขาแค่บอกว่าให้ประชาชนมีความคิดเห็นประกอบข้อเสนอโครงการเท่านั้น กฎหมายด้านทรัพยากรที่ดีที่สุดที่ออกมาในปี 2535 จนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นนับเป็นการปักธงครั้งแรกที่ ‘ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม’ แต่แม้ตอนนั้นก็ตาม ในกฎหมายก็ให้สิทธิประชาชนแค่ ‘ให้ความคิดเห็นประกอบ’ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เรายังขยับไปไหนไม่ได้เลย การให้ความคิดเห็นประกอบยิ่งถูกนำมาประกอบน้อยลงไปเรื่อย ๆ ส่วนข้อเสนอของประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วม เราอยู่ในช่วงของการยืนยันสิทธิการเป็นเจ้าของท้องถิ่น แต่ในทางกฎหมายเรากลับไม่เคยเป็นเจ้าของ ฉะนั้นเราจะต้องยืนยันสิทธิ์ในอีกแบบหนึ่ง คือสิทธิ์ในการทำมาหากิน การอยู่อาศัย และการมีชีวิต ซึ่งทำให้เรารู้จักพื้นที่ ดินแดน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมดีกว่าใคร นี่คือสิทธิโดยธรรมชาติ”
ขณะเดียวกัน ดร.อัญธิฌา แสงชัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงแง่มุมการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในการดำรงชีวิต ของคนในท้องถิ่นในแบบที่ชุมชนเลือกที่จะเป็นเอง ที่ไม่ได้ถูกกำหนดโดยกลุ่มคนที่ไม่ใด้ใช้ชีวิตในชุมชนท้องถิ่น หรือกลุ่มคนที่ได้รับอำนาจจากการสถาปณาโดยรัฐบาล ซึ่งควรยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชน
“แต่สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ อำนาจสถาปนาเหล่านั้นมันไม่ได้ยึดโยงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สิทธิ หรือผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่น หรือเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งพวกเขาไม่ได้กำหนด ไม่ได้ต้องการให้มีหรือให้เกิดขึ้น”
ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชวนมองคุณค่าเชิงนิเวศที่มากว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ ของพื้นที่จะนะ ซึ่งในทางนิเวศวิทยามองว่านี่คือจุดแข็ง ขณะที่การตีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทุนนิยม ไม่ได้มองถึงอนาคตที่จะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าบริเวณหาดทะเลของจะนะไม่ปรากฏมูลค่าตามหลักคิดด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแท้จริงแล้วมันกลับเต็มไปด้วยคุณค่า ทั้งเชิงนิเวศ และวิถีวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังได้ชวนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ หากดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม
“วันนี้เป็นวันที่สื่อสารสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นวันที่กำหนดขึ้นมาให้ชาวโลกได้ตระหนักจริง ๆ แล้วว่าวกฤตสิ่งแวดล้อมมันคือวกฤตของมนุษย์จริง ๆ ฉะนั้นสิ่งที่ ศอ.บจ. ที่คนจะนะกำลังทำ ซึ่งมันเกินกว่าที่จะดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มันเป็นทั้งการดูแลความหลายหลายของชุมชน ดูแลความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรมด้วย ที่คนจะนะคิดในวันนี้คิดในฐานะประชากรโลกคนหนึ่งที่จะดูแลโลกนี้ ซึ่งสิ่งที่ ศอ.บจ. คิด คือกำลังตอบสนองโลกว่าเราเข้าใจในเวลาของธรรมชาติ เรามิอาจรับได้ในนโยบายที่จะเปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม”
จบท้ายด้วย นายบรรจง นะแส ตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงกรณีเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า อำเภอจะนะ เป็นเหมือนการสร้างสวรรค์ในอากาศ โดยการมอบอำนาจให้กับ ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อีกทั้งยังแฉทิ้งท้ายถึงกระบวนการได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มนายหน้าค้าที่ดินในพื้นที่ ที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีครบวงจร หรือ TPIPL อาจถูกต้มเป็นหนที่สอง
“คุณปู่คุณย่าเขาเล่าว่าสมัยสงครามโลก ปี พ.ศ. 2484 มีที่สงวนอยู่หลายหมื่นไร่ คนในตำบลทุ่งหวัง คนในตำบลนาทับถูกเกณฑ์ไปทำค่าย และสนามบินให้ญี่ปุ่น แต่พอหลังสิ้นสงครามโลก ที่ตรงนั้นก็จะกลายเป็นที่ว่างสำหรับใช้เลี้ยงวัว ที่ชาวบ้านหลายตำบลไปเลี้ยงวัว ทั้งนาทับ ทุ่งหวัง เกาะแต้ว หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดิน มีขาใหญ่จากหาดใหญ่ จากสงขลามากว้านซื้อไป ที่ที่คนเลยใช้เลี้ยงวัวกลับกลายเป็นที่ดินที่มีโฉนดขึ้นมา หลังจากนั้นที่ว่าการอำเภอจะนะถูกเผา ซึ่งมีเป้าหมายเผาต้นขั้นโฉนดปลอมที่เคยออกมา เพราะมันถูกเผาเฉพาะห้องที่เก็บโฉนดปลอม ของนำนักงานที่ดิน พอเผาต้นขั้วโฉนดเสร็จ แต่โฉนดที่อยู่ในมือนายทุนก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งยุคนั้นก็มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อจะทำนิคมอุตสาหกรรม คือตำบลทุ่งหวังกับตำบลเกาะแต้ว ก็มีนายทุนใหญ่ก็คือนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเป็นขาใหญ่ปิโตรเคมีภาคตะวันออก ตั้งใจจะขยายอุตสาหกรรมมาทางภาคใต้ ที่สงขลา ก็มี สจ. คนหนึ่งเป็นนายหน้า (น่าจะหมายถึงนายนิพนธ์ บุญญามณี) มากว้านซื้อที่ ราคาไร่ละไม่ถึงแสนบาท หรืออย่างแพงที่สุดติดถนนก็แค่แสนห้าหมื่นบาท แต่เอาไปขาย 3-4 แสนบาท จำนวนสี่พันกว่าไร่ ให้นายประชัย และนายประชัยจะถูกต้มเป็นครั้งที่สองในงานนี้ถ้าไม่ฟังผมดี ๆ ขายที่เสร็จแล้วนายหน้าคนนั้นก็รวย ต่อมาก็มาเป็น สส. เป็น สส. แล้วไม่ได้คุมงบประมาณก็หันมาเป็นนายก อบจ. ออกจากนายก อบจ. ก็ไปเป็นรัฐมนตรี วันนี้มันชัดเจนแล้ว”

คำประกาศ
ศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน (ศอ.บจฺ)
เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอจะนะ ต้องมาพร้อมกับความสุข และยั่งยืน
“วิบากกรรมของคนอำเภอจะนะ” คือการไม่มีส่วนร่วมในการคิดและออกแบบการพัฒนาบ้านของตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมารัฐส่วนกลางจะเป็นคนกำหนดทิศทางการพัฒนาเป็นหลัก ในขณะที่ “สิทธิการพัฒนา” ของชุมชนท้องถิ่น กลายเป็นวาทกรรมที่หน่วยงานต่างๆพยายามนำเสนอและเรียกร้องให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้ทำการออกแบบการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ที่อ้างแนวคิดกระบวนการมีส่วนร่วม หากแต่แนวคิดเหล่านี้กลับไม่ค่อยจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง จึงทำให้การกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ผ่านมา ดำเนินไปตามยถากรรม หรือตามความต้องการของภาคส่วนอื่นๆที่ต้องการเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของอำเภอแห่งนี้ จึงทำให้ช่องว่างการพัฒนาระหว่างหน่วยงาน ภาคีอื่นๆกับประชาชนในพื้นที่มีความห่างมากขึ้นตามลำดับ
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ในฐานะเป็นองค์กรของคนจะนะที่ต้องการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับท้องถิ่นของตนเอง จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน (ศอ.บจ.) ขึ้นมาเป็น “พื้นที่กลาง” ของคนจะนะ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน
2.เพื่อขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์จะนะน่าอยู่” ให้บรรลุผลที่เป็นรูปธรรม
3.เพื่อสร้างการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้สังคมได้เข้าใจเจตนารมณ์ของ ศอ.บจ.
4.เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาที่ต้องมาพร้อมกับความสุขและยั่งยืน อันจะสร้างทางออกให้กับสังคม
5.เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการประสานความร่วมมือในการพัฒนาทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน
6.เพื่อสร้างจิตสำนึกในการดูแลปกป้องฐานทรัพยากรให้แก่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่
โดยมีองค์กรเครือข่ายประชาชนที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายทุกสาขาอาชีพ ทั้งชาวบ้าน พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ นักวิชาการ เยาวชนคนรุ่นใหม่ และภาคประชาสังคมต้องการที่จะสร้างจุดเชื่อมต่อ และลดช่องว่างของการพัฒนาดังกล่าว
พวกเราชาวจะนะ ขอประกาศว่า เราจะร่วมกันขับเคลื่อนตามวัตถุประสงค์เหล่านี้ เพื่อที่จะนำพาเมืองจะนะไปสู่เป้าหมายตามที่มุ่งหวังไว้ ที่จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่ายอย่างมีพลัง โดยจะสร้างพื้นที่กลางอันเป็นที่ยอมรับ ซึ่งรวมถึงการก่อตัวของศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน หรือ ศอ.บจ. ที่หวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะเชื่อมร้อยพี่น้องชาวจะนะทุกภาคส่วน และรวมถึงพี่น้องภาคีเครือข่ายต่างๆอย่างมีพลัง ก็จะทำให้การขับเคลื่อนภารกิจของ ศอ.บจ. จะไม่เป็นเพียงวาทกรรม แต่จะบังเกิดเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดมากขึ้นในอนาคต ภายใต้แนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่จะต้องมาพร้อมกับความสุข และยั่งยืน อันจะเป็นการสร้างการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่จริง นั่นคือความสมบูรณ์พร้อมของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจบนฐานระบบนิเวศ สังคมพหุวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเราเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นทางออกภายใต้วิบากกรรมที่ดำรงอยู่กับคนจะนะมาอย่างยาวนานร่วมยี่สิบปี