วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้อง อารียา โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้มีการจัดประชุมสมัชชาสามัญ ประจำปี 2559 องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเครือข่ายสมาชิกจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 300 คน
ตลอดการประชุมทั้งสองวันได้มีการพูดคุยกันในหลายวาระ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน สถานการณ์และการขับเคลื่อนของภาคประชาชน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความตระหนักและความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศไทยและทุกคน ทิศทางการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เป็นวันแรกของการประชุม ได้แบ่งกลุ่มกันพูดคุยในวงย่อยตามประเด็นดังกล่าว ซึ่ง ในแต่ละกลุ่มประเด็นประกอบด้วยนักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ และตัวแทนภาคประชาชนได้เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรส
ห้องที่หนึ่ง ที่พูดคุยกันถึงประเด็น การพัฒนาที่ยั่งยืน สถานการณ์และการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ก็ได้มีการแตกประเด็นย่อยออกมาพูดคุยถึง พัฒนาการ ตัวชี้วัดต่างๆ ของของข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) บทบาทและพันธะกิจของประเทศไทยสุ่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนั้นยังได้ยกประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่างในการพูดคุยเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาต่อไปในอนาคต เช่น การจัดการน้ำ การจัดการทะเลและมหาสมุทร การจัดการระบบนิเวศน์ทางบก ป่าไม้ และที่ดิน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดการบริหารแร่ และการผลิต การบริโภค เป็นต้น ซึ่งทั้งหมด นายเอกชัย อิสระทะ ตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมฯ จากจังหวัดสงขลาได้ประมวลสรุปไว้ว่า
“การขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่อาจสำเร็จได้จากการใช้อำนาจรัฐด้านเดียว ต้องก้าวข้ามกับดักอำนาจไปสู่การสร้างพลังการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งสังคม สร้างการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจร่วมกันทั้งแผ่นดิน เปิดพื้นที่การทำงานร่วมกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ส่งเสริมการทำงานจากล่างสู่บน และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมและกฎหมาย”
ห้องที่สอง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความตระหนักและความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศไทยและทุกคน ทิศทางการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ได้พูดคุยกันถึงภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การจำกัดอุณหภูมิโลกที่จะสูงขึ้นโดยไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ผลกระทบที่จะเกิดกับแระเทศไทย และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ในการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนถึงความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย การลดพลังงานจากฟอสซิลด้วยการทดแทนพลังงานหนุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานจากแหล่งอื่นๆ ในระดับชุมชน ในลักษณะการกระจายแหล่งพลังงานขนาดเล็กไปตามชุมชนต่างๆ ซึ่งมีผลเป็นรูปธรรมตัวอย่างแล้ว หลายหมู่บ้าน ทั้งในจ.เพชรบุรี จ.สุรินทร์ จ.กระบี่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้มีการหาแนวทางในการตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย นายบุญยืน วงศ์สงวน ตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมฯ จากจังหวัดพิจิตร ได้กล่าวสรุปถึงกรณีดังกล่าวว่า “จากเป้าหมายเดิมที่รัฐบาลได้ตังไว้ในการลดคาร์บอน และปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มระบบนั้น ยาวนานเกือบร้อยปี ซึ่งยากที่จะมีคนอยู่รอรูปธรรมนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนเป้าหมายการลดคาร์บอนให้เข้มข้นมากขึ้น ขับเคลื่อนให้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศไทย ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้พลังงานถ่านหิน สร้างประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพิ่มความมุ่งมั่นที่จะร่วมกับประชาคมโลกทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิด 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2593 รวมทั้งการเพิ่มความตระหนักและสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”
และห้องที่สาม รัฐธรรมนูญและกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ และการปรับปรุงกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งในการประชุมมีการบรรยายเรื่อง ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดย ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลฏีกา ได้พูดถึงความเหลือมล้ำในการดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อมว่า “สัดส่วนการดำเนินคดีกับประชาชนสูงกว่าการดำเนินคดีกับรัฐและผู้ประกอบการเอกชน” นำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิบุคคลและชุมชนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น เป็นต้น
และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุม ได้มีการประมวลสรุปการประชุมและแสดงเจตนารมณ์ โดยมีข้อเสนอแนะในการจัดการบริหารทัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องเพิ่มความพยายามมากขึ้นที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเตรียมการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การอนุรักษ์ คุ้มครองระบบนิเวศน์ทางบก ทะเล มหาสมุทร ดังต่อไปนี้
เจตจำนง
การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โลกที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน
เราตระหนักว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นภารกิจที่ต้องร่วมกันทำทุกฝ่าย ทั้งเพื่อความรับผิดชอบต่อตัวเรา ต่อครอบครัว ต่อญาติมิตร ต่อประเทศ ต่อโลกของเราและคนในรุ่นต่อไป
รัฐบาล และประชาชนต่างมีจุดมุ่งหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ให้รุนแรงไปถึงสภาวะที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลกไม่สามารถดำรงอยู่ได้ แต่ในการสัมมนาครั้งนี้ เราพบว่า
การขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่อาจสำเร็จได้จากการใช้อำนาจรัฐด้านเดียว ต้องก้าวข้ามกับดักอำนาจไปสู่การสร้างพลังการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งสังคม สร้างการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจร่วมกันทั้งแผ่นดิน เปิดพื้นที่การทำงานร่วมกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ส่งเสริมการทำงานจากล่างสู่บน และสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมและกฎหมาย
การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ จะเป็นไปได้ สังคมทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน บทเรียนจากหลายประเทศบอกกับเราว่า ความเป็นธรรมในการพัฒนา การกระจายรายได้ การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลัก เป็นปัจจัยสำคัญของการก้าวสู่สังคม ๔.๐
เป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศไทยลงร้อยละ ๒๐ – ๒๕ ให้ได้ภายในปี ๒๕๗๓ ตั้งอยู่บนฐานอัตราการปล่อยคาร์บอนด้วยการคาดการณ์จากฐานปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าการปล่อยคาร์บอนจริงของประเทศไทย ดังนั้นเป้าหมายการลดคาร์บอนดังกล่าวจึงเท่ากับการไม่ได้ลด การใช้พลังงานจากฟอสซิล เป็นพลังงานหลักจะไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลัก และจะยิ่งเพิ่มขึ้นในอนาคตไปสู่พลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์
ด้วยความร้อนรนต่อปัญหาเฉพาะหน้า และการพยายามหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ความร่ำรวย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ชี้ให้เห็นว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนเกิดขึ้นมากในทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทั้งจากการเร่งรัดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ การกำหนดพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน ๑๐ จังหวัดชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การทวงคืนผืนป่า การเร่งรัดขยายตัวเลขป่าอนุรักษ์ให้เพิ่มขึ้น แผนพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก และอื่นๆ
ในวาระที่สังคมไทยจะขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก และการปฏิรูปประเทศในกรอบของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เราเห็นว่าทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการดังต่อไปนี้
๑.องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน องค์กรประชาชน มหาวิทยาลัย ภาควิชาการ จะต้องเพิ่มความพยายามมากขึ้นที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเตรียมการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การอนุรักษ์ คุ้มครองระบบนิเวศน์บก ทะเล มหาสมุทร ในการนี้รัฐจะต้องปฏิรูปกองทุนสิ่งแวดล้อม และกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคม ให้มีการบริหารอย่างเป็นอิสระ ทำงานเชิงรุก และให้องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนทำงานได้อย่างอิสระ
๒.ผู้นำประเทศต้องแสดงภาวะผู้นำด้วยความมุ่งมั่นในการก้าวออกจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน มุ่งแต่เป้าหมายระยะสั้นแต่ทำลายอนาคตระยะยาว ขณะเดียวกันจำต้องสร้างบรรยากาศแห่งความหวังในการร่วมมือและคิดอ่านร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยไม่ทอดทิ้งชุมชน ท้องถิ่นหรือคนกลุ่มใดไว้เบื้องหลัง
๓.รัฐบาลต้องเปลี่ยนเป้าหมายการลดคาร์บอนให้เข้มข้นมากขึ้น ขับเคลื่อนให้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศไทย ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้พลังงานถ่านหิน สร้างประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพิ่มความมุ่งมั่นที่จะร่วมกับประชาคมโลกทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิด ๑.๕ องศาเซลเซียสในปี ๒๕๙๓ รวมทั้งการเพิ่มความตระหนักและสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
๔.เปลี่ยนโจทย์ประเทศไทยจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำไมเราไม่ร่ำรวยเสียที เป็นการสร้างการพัฒนาที่มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องเริ่มจากการกระจายรายได้ การกระจายการถือครองที่ดิน การรักษาระบบนิเวศน์ให้ลมดุล การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ร่วมกัน
๕.ปฎิรูประบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐเป็นการบริหารจัดการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย บนพื้นฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน
๖. ปฏิรูปกฎหมาย สร้างองค์ความรู้ มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นไปเพื่อความเป็นธรรม ยึดหลักนิติธรรม เช่น การปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การจัดทำประมวลกฎหมายป่าไม้ที่มีเป้าหมายเพื่อทุกคน เป็นต้น
การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เราต้องไปร่วมกัน รัฐบาลต้องทบทวนการทำงาน และเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมายซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวไว้ในหลายวาระว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
ด้วยจิตคารวะ
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐