วันนี้ (7 ธันวาคม 2559) Region Calling ได้รับเอกสารแถลงการณ์ของกลุ่มเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ว่าด้วยเรื่อง “ขอให้ถอนร่างกฎหมายแร่ฉบับใด ๆ ก็ตามออกจากการพิจารณาของ สนช. อย่างถาวร แล้วสร้างกระบวนการร่างกฎหมายแร่ใหม่ร่วมกับประชาชนในช่วงที่บ้านเมืองมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว” โดยในเอกสารแถลงการณ์ดังกล่าวได้ระบุถึงประเด็นที่ทางเครือข่ายฯ ได้แสดงความไม่ยอมรับต่อ ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … ทั้งสองฉบับ คือฉบับร่าง ของคณะรัฐมนตรีที่มีเนื้อหาเดิม และฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ ในวันพรุ่งนี้ (8 ธันวาคม 2559) พร้อมกับเรียกร้องให้ถอดถอน พ.ร.บ.แร่ ฉบับดังกล่าวออกจากการพิจารณาของ สนช. อย่างถาวร โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
แถลงการณ์
โดย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
เรื่อง ขอให้ถอนร่างกฎหมายแร่ฉบับใด ๆ ก็ตามออกจากการพิจารณาของ สนช. อย่างถาวร แล้วสร้างกระบวนการร่างกฎหมายแร่ใหม่ร่วมกับประชาชนในช่วงที่บ้านเมืองมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับ ‘ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….’ ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การพิจารณาใน สนช. โดยแต่งตั้ง ‘กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….’ ขึ้นมาเพื่อพิจารณารายมาตราเสร็จเรียบร้อยแล้ว บัดนี้กำลังนำร่างฯฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวาระสองและสามเพื่อตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไปในวันพรุ่งนี้ พฤหัสฯที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ นั้น
ท่ามกลางกระแสข่าวถึงความไม่พอใจของกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ว่า ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างฯไปจากเดิมเยอะมาก จนสูญเสียเป้าหมายเดิมที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ต้องการ โดยเฉพาะ หนึ่ง-บทบัญญัติเกี่ยวกับ ‘เขตสัมปทานแร่’ หรือ ‘ไมนิ่งโซน’ ที่ถูกแก้ไขเสียจนทำให้ไมนิ่งโซนไม่สมบูรณ์แบบ เพราะไม่สามารถเฉือนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน โบราณวัตถุ พื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมออกมาเป็นเขตสัมปทานแร่ได้ สอง-บทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ที่ กพร. มีอำนาจเต็มเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่น ก็ถูกแก้ไขเสียจนทำให้ กพร. ไม่สามารถมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้เพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป
รวมทั้งบทเฉพาะกาลในร่างฯที่ กพร. จงใจเขียนซ่อนเอาไว้เพื่อต้องการคุ้มครองสัญญาสัมปทานผูกขาดหลายฉบับที่ทำขึ้นมาก่อนหน้านี้โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นภายใต้มติคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้กระทำสัญญาในรูปแบบ ‘สัมปทานผูกขาด’ ที่ไปจับจองพื้นที่ขนาดใหญ่หลายแสนไร่โดยไม่มีวันหมดอายุได้ ดังเช่น สัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองทองคำที่มีปัญหาผลกระทบและความขัดแย้งรุนแรงกับชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นต้น ก็ถูกแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯเสียจนอาจทำให้สัญญาฯดังกล่าวและสัญญาในทำนองเดียวกันนี้อีกหลายฉบับถูกยกเลิกเพิกถอนได้หากว่าร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้ผ่านวาระสองและสามของ สนช. และตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป
นั่นจึงเป็นที่มาของข่าวที่ออกมาในช่วงสองสามวันนี้ว่ามีทั้งอดีตข้าราชการและข้าราชการที่มีบทบาทเกี่ยวกับสัมปทานแร่และนายทุนใหญ่ที่ทำธุรกิจเหมืองแร่กำลังวิ่งเต้นกับรัฐบาลและ สนช. บางส่วนให้ถอนร่างฯฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯออกมาทบทวนใหม่ เพราะกลัวเสียผลประโยชน์จนไม่สามารถทำมาหากินเกี่ยวกับเหมืองแร่ได้ง่ายเหมือนเก่า
ต่อกระแสข่าวดังกล่าว หากการวิ่งเต้นสมประโยชน์จนบรรลุผล จะมีความเป็นไปได้สูงที่ในชั้นการพิจารณาของ สนช. วาระสองและสามในวันพฤหัสนี้ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ จะมีผู้เสนอให้นำ ‘ร่างฯฉบับ ครม. ที่มีเนื้อหาเดิม’ เข้ามาพิจารณาแทน ‘ร่างฯฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ’ เพราะเป็นร่างฯที่ กพร. ยอมรับได้ มีเนื้อหาเป็นไปตามความต้องการของตนทุกประการ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคประชาชนยังเห็นว่าร่างกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับ ระหว่าง ‘ร่างฯฉบับ ครม. ที่มีเนื้อหาเดิม’ และ ‘ร่างฯฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ’ ยังมีจุดอ่อนอีกมากจนทำให้เป็นร่างฯที่ไม่ดีพอต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ตัวจริง เสมือนกับแนวคิดเดียวกันที่ว่า ‘ผืนดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ’ ฉันใด ‘แร่ต้องเป็นของเจ้าของที่ดิน’ ฉันนั้น ซึ่งร่างฯทั้งสองฉบับยังไม่ยอมรับหลักการนี้ เพราะได้กำหนดหลักการให้ ‘แร่เป็นของรัฐ’ เพื่อที่รัฐจะมีสิทธิอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่แต่เพียงผู้เดียวให้แก่ใครก็ได้ แม้ว่าแร่จะอยู่ใต้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ในครอบครองและการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่ไม่ยินยอมให้ที่ดินนั้นถูกขุดเจาะจากการสำรวจและทำเหมืองแร่ก็ตาม
ร่างกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับได้วางหลักการคุ้มครองสิทธิในที่ดินประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ในความครอบครองและการใช้ประโยชน์ของประชาชนเพียงแค่ให้ไปโต้แย้งและพิสูจน์สิทธิในที่ดินครอบครองและการใช้ประโยชน์ของตนเองคืน หากว่าที่ดินในครอบครองและการใช้ประโยชน์ของประชาชนตกอยู่ในเขตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ที่รัฐให้แก่เอกชนไปแล้ว ซึ่งเป็นการผลักภาระ มัดมือชกและสร้างแรงบีบคั้นอย่างสาหัสสากรรจ์แก่ประชาชนที่ต้องต่อสู้ด้วยการถูกบังคับให้ดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติของราชการที่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายเพื่อขอคืนสิทธิในที่ดินที่อยู่ในความครอบครองและการใช้ประโยชน์ของประชาชน
ประกอบกับบทบัญญัติอีกหลายมาตราที่มองประโยชน์ของผู้ประกอบการเป็นหลัก อาทิเช่น มาตรา ๑๓ ที่สามารถนำแหล่งแร่มาประกาศให้มีการประมูลเพื่อได้สิทธิในสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมต่อประเทศไทยที่พื้นที่ส่วนใหญ่มีชุมชนท้องถิ่นกระจายตัวกันอยู่ทั่วไปและมีประชากรหนาแน่น ไม่ใช่พื้นที่ว่างห่างไกลผู้คน
มาตรา ๔๙ และ ๕๗ ที่แบ่งการทำเหมืองออกเป็นสามประเภทโดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่และการกระจายอำนาจในการจัดการแร่ให้ท้องถิ่น สิ่งสำคัญอยู่ที่การกำหนดให้การแบ่งประเภทการทำเหมืองประเภทที่ ๑, ๒ และ ๓ เล็ก ซึ่งเป็นการทำเหมืองขนาดเล็ก กลางและใหญ่นั้นให้กำหนดเนื้อหารายละเอียดไปออกที่ประกาศกระทรวง ไม่ปรากฎอยู่บนตัวพระราชบัญญัติ ไม่มีใครรู้เห็นและไม่มีหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ออกมาบังคับใช้แล้วก็ยากที่จะทักท้วงแก้ไข เพราะพระราชบัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีภาคประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยประกาศกระทรวงดังกล่าวถึงแม้จะให้คำนึงถึงพื้นที่ ชนิดแร่ ลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งแร่ วิธีการทำเหมืองและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการทำเหมืองก็ตาม ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าจะออกประกาศกระทรวงในลักษณะที่สามารถซอยย่อยขนาดพื้นที่การทำเหมืองประเภทที่ ๒ และ ๓ ให้เป็นการทำเหมืองประเภทที่ ๑ ซึ่งมีเขตเหมืองแร่ติดต่อกันหลาย ๆ แปลงได้ซึ่งก็จะทำให้ขั้นตอนและกระบวนการอนุญาตประทานบัตรมีระยะเวลาที่สั้นลง รวมทั้งหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็น้อยลงด้วย
การแปลงให้การทำเหมืองประเภทที่ ๒ และ ๓ ถูกซอยย่อยกลายเป็นการทำเหมืองประเภทที่ ๑ เนื้อที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่ต่อแปลง แต่หลายแปลงติดต่อกันได้ เพื่อทำให้ขั้นตอนและกระบวนการอนุญาตประทานบัตรมีระยะเวลาสั้นลง ไม่ยุ่งยาก และถูกยกเว้นให้ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรายงาน EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณีได้อีกด้วย
มาตรา ๑๐๐ และ ๑๐๕ ที่อนุญาตให้การแต่งแร่และประกอบโลหกรรมภายในเขตประทานบัตรตามลำดับไม่ต้องขอใบอนุญาตแยกต่างหาก ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่เพียงใบเดียวคุ้มครองส่วนควบทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่่ส่วนควบเหล่านั้นเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดมลพิษเสียยิ่งกว่าการทำเหมืองแร่เสียอีก เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บกักและทิ้งน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายที่มีสารประกอบและโลหะเป็นพิษที่ต้องระแวดระวังการไหลออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ต้องวางมาตรการกำกับดูแลและควบคุมอย่างใกล้ชิดให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยภายในบริเวณที่ต้องเก็บกักให้มิดชิด เพื่อป้องกันมิให้เล็ดลอดออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอกได้
มาตรา ๑๓๒ ที่บัญญัติให้ กพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐสามารถนำพื้นที่แหล่งแร่ใดก็ได้มายื่นคำขอประทานบัตรและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แทนเอกชนที่สามารถขอประมูลสัมปทานทำเหมืองแร่ในภายหลังจากที่พื้นที่แหล่งแร่ดังกล่าวของ กพร. ได้รับความเห็นชอบ EIA และอนุญาตประทานบัตรแล้วได้ นำมาซึ่งหลายคำถาม ไม่ว่าจะเป็นการตัดมาตรการถ่วงดุลออกไป ผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตสัมปทาน การทำลายหลักการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ว่าผู้มีอำนาจส่วนบนจะเล่นเกมส์และวิ่งเต้นกันอย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคประชาชนก็ยังเห็นว่าร่างกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับยังไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนเท่าที่ควร เป็นเพียงการจัดสรรอำนาจในแวดวงราชการและการเมืองที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสัมปทานแร่เท่านั้น จึงมีข้อเสนอดังนี้
๑. ไม่รับร่างกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ‘ร่างฯฉบับ ครม. ที่มีเนื้อหาเดิม’ หรือ‘ร่างฯฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ’ ก็ตาม
๒. ขอประนามการวิ่งเต้นของข้าราชการ และสนช. บางส่วนกับรัฐบาลทหาร คสช. บางคนที่ประสงค์จะนำ ‘ร่างฯฉบับ ครม. ที่มีเนื้อหาเดิม’ เข้ามาพิจารณาแทน ‘ร่างฯฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ’ ในการประชุมของ สนช. วาระสองและสามในวันพฤหัสฯที่ ๘ ธันวาคมนี้
๓. ขอให้รัฐบาลทหาร คสช. ถอนร่างกฎหมายแร่ฉบับใด ๆ ก็ตามออกจากการพิจารณาของ สนช. อย่างถาวร แล้วสร้างกระบวนการร่างกฎหมายแร่ใหม่ร่วมกับประชาชนในช่วงที่บ้านเมืองมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
๗ ธันวาคม ๒๕๕๙