เรื่องและภาพโดย ตาล วรรณกูล
“ตั้งแต่เราปฏิวัติเขียวมา บวกลบแล้วมันก็ 50-50 เท่าเดิม เหมือนไม่ได้พัฒนาอะไรเลย” ลุงภาษิต แสงจำนง ชาวนาวัย 70 ชาวอำเภอโพนทะเล จังหวัดพิจิตร พูดขึ้นในวันที่ผมไปพบปะพูดคุยกับแกเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน เดือนที่ฝนตกชุกที่สุดในรอบปี

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยครับว่า อะไรคือ “ปฏิวัติเขียว”
ผมอาจจะเริ่มอย่างนี้ครับ การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) คือการเปลี่ยนระบบผลิตภาคเกษตรกรรม จากเดิมที่แต่ก่อนเป็นการทำเกษตรแบบสมดุล คือมีวัฎจักรของสิ่งมีชีวิต มีพืช มีปลา มีไส้เดือน มีหอย มีกบ มีเขียด ฯลฯ รวมถึงมีพืชชนิดอื่นๆ ปะปนร่วมกันในแปลงเกษตร จากการมีวัฎจักรของสิ่งมีชีวิตที่กินแล้วขับถ่าย ก็กลายเป็น ปุ๋ยชั้นดี ให้กับดิน ทำให้ดินมีคุณภาพดี ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นเกษตรแบบเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาเทคโนโลยีและเคมีภัณฑ์ในการผลิตนั่นเอง นาข้าวก็ไม่เว้นน่ะครับ
“สมัยก่อนดั้งเดิมจริงๆ ชาวนาก็มีข้าวพันธุ์โดยธรรมชาติ เรียกว่าข้าวฟางลอย ก็คือข้าวที่สามารถปรับสภาพต้นตามระดับน้ำ ในแต่ละพื้นที่ก็มีพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่หลากหลาย มีทั้งพันธุ์ข้าวหนัก พันธุ์ข้าวเบา ปลูกไว้กินกันในครอบครัว พอเราชาวนาทำอย่างนั้น รัฐก็บอกว่าเราทำผลผลิตได้ไม่มาก รัฐก็เลยเอาข้าวพวกนี้ไปพัฒนา ให้สามารถให้ผลผลิตได้เยอะๆ และเร็ว เรียกว่าข้าวช้าแสง (ไม่ไวแสง) มันได้ผลผลิตมากก็จริง แต่ทีนี้เมื่อต้นข้าวลงดินมันกลับต้องพึ่งพาปุ๋ย ยา และเคมี และมันต่อยอดพันธุ์ได้เพียง รุ่นสองรุ่นเท่านั้น ชาวนาจึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่เริ่มทำนา”

สำหรับประเทศไทยเรา นับตั้งแต่ปี 2506 ปีของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกที่มีการพัฒนาระบบการผลิต ทั้งด้านการเพิ่มปริมาณเพื่อการส่งออก และการปรับปรุงวิธีการผลิตแผนใหม่ เพื่อการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ มีระบบชลประทาน มีอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ รวมถึงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ทั้งด้านพันธุกรรม ด้านเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีการบริหารจัดการ รวมถึงการก่อตั้งสถาบันวิจัยด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทางคอยสนับสนุน ระบบเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาก็ก้าวเข้าสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบในยุคนั้นครับ
จากนั้นเป็นต้นมาครับ แผนหรือนโยบายของรัฐก็มุ่งผลิตผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว เพื่อขายแข่งขันกับเพื่อนๆ นานาประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เขาก็ทำนาผลิตข้าวเหมือนๆ กับเรานี่ล่ะครับ จนเป็นที่เลื่องลือทำนองว่า “โอ้โห ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก”
“เมื่อถึงเวลาที่ชาวนาขายข้าวเปลือกให้กับโรงสี โรงสีนำไปแปรรูป เป็นข้าวสาร เป็นรำ เป็นปลายข้าว ขายเพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย ทำการส่งออกข้าว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้จากชาวนาอย่างเอารัดเอาเปรียบ ทั้งเรื่องของตราชั่ง ทั้งเรื่องของการกำหนดคุณภาพข้าวและก็ความชื้น รวมทั้งการกำหนดราคา ชาวนาไม่มีโอกาสจะรู้ทันเลย ฉะนั้นหลังการปฏิวัติเขียวเป็นต้นมา ชาวนาคือคนผลิตข้าวเปลือก มันจึงถูกแล่เนื้อเถือหนังมาโดยตลอด” ลุงภาษิตให้ความเห็นเพิ่มเติม

จุดเด่นของการปฏิวัติเขียวอยู่ที่การนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตภาคการเกษตรอย่างได้ผลชัดเจน อย่างเช่นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ ของกรมการข้าวเป็นต้น แต่จุดอ่อนของมันคือละเลยต่อผลกระทบด้านอื่นๆ เช่นสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง โดยอาศัยเงื่อนไขต่างๆ เช่นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มอำนาจและกลุ่มทุน ในที่สุดระบบการเกษตรในแนวทาง “ปฏิวัติเขียว” ก็กลายเป็นนโยบายหลักของประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรกรต่างถูกชักจูงให้ยอมรับระบบการเกษตรดังกล่าวด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ดังบทเรียนที่เกิดขึ้นกับนโยบายประชานิยมในรัฐบาลพลเรือนที่ผ่านๆ มา และล่าสุดที่กำลังก่อกำเนิดในนโยบายประชารัฐ ที่ชักชวนเกษตรกรหันมารวมกลุ่มทำเกษตรกรรมแปลงใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร แต่ลึกๆ เข้าไปข้างในใครจะรู้ล่ะครับ
แน่นอนครับว่าเมื่อระบบผลิตข้าวที่จากเดิมผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ถูกเปลี่ยนมาเป็นระบบผลิตที่ป้อนระบบอุตสาหกรรมอาหาร การเร่งเพิ่มผลผลิตที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ หรือเป็นที่นิยมของผู้บริโภค สิ่งที่ตามมาคือการเร่งการเจริญเติบโต เร่งรอบในการผลิต โดยส่วนใหญ่จะทำนากันถึง 5 รอบ ในระยะเวลาเพียง 2 ปี

“ตอนนี้ชาวนาตกเป็นเครื่องมือของทุนและเครื่องมือของนักการเมือง”
ลุงมะลิ ทองคำปลิว ชาวนาใน ต.ชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เริ่มเรื่องระหว่างที่แกลงแขกช่วยชาวนากลุ่มหนึ่งดำนาปลูกข้าว ในวันที่แสงแดดเจิดจ้าแผดเผา “วิถีการผลิตปัจจุบันมันต้องสนองต่อทุนอย่างเดียว คือต้องทำให้มีผลผลิตในปริมาณมากๆ พอทำมากการลงทุนมันก็เพิ่มขึ้น ชาวนาก็ตามไม่ทัน แต่ราคาก็ไม่มากเหมือนที่ชาวนาต้องการ นั่นก็หมายความว่าชาวนาไม่สามารถควบคุมการตลาดเองได้ เพราะตลาดมันเปลี่ยนไป มันไม่ได้เอามาแลกกันเหมือนสมัยก่อน ต้องขายข้าวเปลือกมาซื้ออาหาร รวมถึงข้าวสารด้วย และสุดท้ายชาวนาก็เป็นเพียงแรงงานในระบบอุตสาหกรรมอาหาร”
จากคำกล่าวของลุงมะลิ ทองคำปลิว เมื่อวันนั้น ถึงเวลาที่จะมีการทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา และหาแนวทางที่จะทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้อย่างมีความสุข และเข้าถึงกลไกการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบผลิตข้าว หรือยัง?